ฉันทลักษณ์


ฉันทลักษณ์
          ฉันทลักษณ์ คือ ตำราที่ว่าด้วย วิธีร้อยกรองถ้อยคำ หรือเรียบเรียงถ้อยคำ ให้เป็นระเบียบ ตาม ลักษณะบังคับ และบัญญัติ ที่นักปราชญ์ได้วางเป็นแบบไว้ ถ้อยคำที่ร้อยกรองขึ้น ตามลักษณะบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ เรียกว่า 'คำประพันธ์'
          คำประพันธ์ คือ ถ้อยคำที่ได้ร้อยกรอง หรือเรียบเรียงขึ้น โดยมีข้อบังคับ จำกัดคำ และวรรคตอน ให้รับสัมผัสกัน ไพเราะ ตามกฎเกณฑ์ ที่ได้วางไว้ในฉันทลักษณ์ คำประพันธ์ จำแนกออกเป็น 7 ชนิด คือ โคลง ร่าย ลิลิต กลอน กาพย์ ฉันท์ กล
          ลักษณะบังคับ หรือบัญญัติ ในการเรียบเรียงคำประพันธ์ทั้งปวง มีอยู่ 8 อย่าง คือ
          1.ครุ ลหุ ครุ คือ พยางค์ที่มีเสียงหนัก  ลหุ คือ พยางค์ที่มีเสียงเบา
          2. เอก โท เอก คือ พยางค์ หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์เอก และบรรดาคำตายทั้งสิ้น โท คือ พยางค์หรือคำที่มีรูปวรรณยุกต์โท
          3. คณะ คือ แบบบังคับที่วางเป็นกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ว่า คำประพันธ์ชนิดนั้น จะต้องมีเท่านั้นวรรค เท่านั้นคำ และต้องมีเอกโท ครุลหุตรงนั้นๆ ตรงนี้ กล่าวโดยทั่วๆ ไป แต่สำหรับใน "ฉันท์" คำว่าคณะ มีความหมายแคบ คือหมายถึง ลักษณะที่วางคำเสียงหนัก เสียงเบา ที่เรียกว่า ครุ ลหุ และแบ่งออกเป็น 8 คณะ คณะหนึ่งมีคำอยู่ 3 คำ เรียง ครุ ลหุ ไว้ต่างๆ กัน
          4. พยางค์ คือ จังหวะเสียง ที่เปล่งออกมาครั้งหนึ่งๆ หรือหน่วยเสียง ที่ประกอบด้วยสระตัวเดียว จะมีความหมาย หรือไม่ก็ตาม คำที่ใช้บรรจุในบทร้อยกรองต่างๆ นั้น ล้วนหมายถึง คำพยางค์ ทั้งสิ้น
          5. สัมผัส คือ ลักษณะที่บังคับให้ใช้คำคล้องจองกัน คำที่คล้องจองกันนั้น หมายถึง คำที่ใช้สระ และมาตราสะกดอย่างเดียวกัน แต่ต้องไม่ซ้ำอักษร หรือซ้ำเสียงกัน มี 2 ชนิด คือ สัมผัสนอกและสัมผัสใน
          6. คำเป็นคำตาย คำเป็น คือ คำที่ประกอบด้วย สระเสียงยาว (ทีฆสระ) ในแม่ ก กา และคำที่มีตัวสะกด ในแม่กน กง กม เกย (คำที่มีตัว ว สะกด จัดอยู่ในแม่เกย) รวมทั้ง สระสั้นทั้ง 4 ตัว คือ อำ ใอ ไอ เอา คำตาย คือ คำที่ประกอบด้วย สระเสียงสั้น (รัสสระ) ในแม่ ก กา (ยกเว้น อำใอ ไอเอา) และคำที่มีตัวสะกด ในแม่ กก กด กบ
          7. คำนำ คือ คำที่ใช้กล่าวขึ้นต้น สำหรับเป็นบทนำ ในคำประพันธ์ เป็นคำเดียวบ้าง เป็นวลีบ้าง
          8. คำสร้อย คือ คำที่ใช้สำหรับลงท้ายบท หรือท้ายบาท ของคำประพันธ์ ซึ่งตามธรรมดา มีคำซึ่งมีความหมายอยู่ข้างหน้าแล้ว แต่ยังไม่ครบจำนวนคำ ตามที่บัญญัติไว้ ในคำประพันธ์ จึงต้องเติมสร้อย เพื่อให้มีคำ ครบตามจำนวน และเป็นการเพิ่มสำเนียงให้ไพเราะ ในการอ่านด้วย คำสร้อยนี้ จะเป็นคำนาม คำวิเศษณ์ คำกริยานุเคราะห์ คำสันธาน หรือคำอุทาน ก็ได้ แต่ถ้าเป็นคำอุทาน ที่มีรูปวรรณยุกต์ ต้องตัดรูปวรรณยุกต์ออก และไม่ต้องมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ มิฉะนั้น จะขัดต่อการอ่านทำนองเสนาะ


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สัมผัสในการแต่งกลอน

การเขียนประกาศ

การเล่นคำ