ภาพพจน์ในภาษาไทย

ความหมายของภาพพจน์

ภาพพจน์เป็นการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหาร ที่ทำให้ผู้รับสารเกิดมโนภาพ  เกิดจินตนาการ ถ่ายทอดอารมณ์ ทำให้มีความรู้สึกร่วมตรงตามความปรารถนาของผู้ส่งสาร 

ประเภทของภาพพจน์

ภาพพจน์ที่ใช้ในการสื่อสารมีอยู่มากมายหลายประเภท ดังนี้

1. อุปมา ( Simile) ได้แก่ ภาพพจน์ที่นำเอาสิ่งต่างกัน 2 สิ่งมาเปรียบเทียบในคุณลักษณะที่เหมือนกันภาพพจน์ชนิดนี้อาจจะเรียกอีกอย่างว่า อุปมาอุปไมยโดยอุปมาจะเป็นของที่นำมาเปรียบ อุปไมยจะเป็นตัวตั้งในการเปรียบส่วนใหญ่จะมีคำเชื่อม  เช่น เหมือน เปรียบ ดัง ดุจ ประดุจ ประหนึ่ง ละม้าย เสมอ ปาน เพียง ราว เทียบ เทียม เฉก ปูน ปาน  เล่ห์ ฯลฯตัวอย่างเช่น
สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด                    งาม ละม้ายคล้าย อูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา              ทั้งสองแก้มกัลยา ดัง ลูกยอ
คิ้วก่ง เหมือน กงเขาดีดฝ้าย                จมูก ละม้ายคล้าย พร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                        ลำคอโตตันสั้นกลม
(ระเด่นลันได – พระมหามนตรี (ทรัพย์)
ในบทกลอนข้างต้นนี้เป็นการนำเอาลักษณะของอวัยวะหรือรูปร่างของคนมาเปรียบกับลักษณะของสิ่งที่ดูเหมือนเช่นแก้มเป็นปุ่มปมเหมือนกับผิวลูกยอ จมูกที่ดูงองุ้มที่ปลายจมูกเหมือนกับตะขอ เป็นต้น
อุปมาไม่ได้มีแต่ในภาษากาพย์กลอนเท่านั้นในร้อยแก้วก็มีอุปมาเช่นกัน ตัวอย่างเช่น
“… ข้าพเจ้ารีบเดินดุ่มๆไม่เหลียวหลังผ่านไปในระวางละแวกบ้านมองดูข้างหน้าในเวลาฟ้าขาวจวนจะสว่างเห็นถนนหนทางนอกเมืองดูว้าเหว่ทอดยาวยืดไปไกลลิบลับดู ประหนึ่ง ว่าจะไม่มีเขตสุดลงไปฉะนั้น …”
( กามนิต – เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป)
“โทสะประดุจไฟ ที่เผาไหม้ใจของคน”
 2. อุปลักษณ์ (Metaphor) ภาพพจน์ที่นำเอาสิ่งต่างกัน 2 สิ่งหรือมากกว่ามาเปรียบเทียบในคุณลักษณะที่ร่วมกันโดยตรงไม่ต้องมีคำเชื่อมโยง บอกได้เลยว่าคืออะไรเป็นอะไร ตามลักษณะเด่นที่ต้องการเปรียบ กวีและนักเขียนนิยมใช้อุปลักษณ์ในวรรณกรรมที่แต่งเพราะได้ความกะทัดรัดแสดงความเฉียบแหลมในการหาจุดเหมือนที่บ่งบอกถึงประสบการณ์และทัศนคติของผู้แต่ง คำเชื่อมที่ใช้ในอุปลักษณ์จะใช้คำว่า  เป็นและคือ หรือไม่ใช้เลยก็ได้  ตัวอย่างเช่น
มันก็ เป็น ช้างงาอันกล้าหาญ                  เราก็ เป็น ช้างสารอันสูงใหญ่
จะอยู่ป่าเดียวกันนั้นฉันใด                       นานไปก็จะยับอัปมาน
(ขุนช้างขุนแผน)
ในบทกลอนนี้เป็นการเปรียบเทียบระหว่างหมื่นหาญกับขุนแผนโดยเปรียบขุนแผนเป็นช้างที่กล้าหาญ หมื่นหาญก็เป็นช้างที่ดูใหญ่โตจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร
“… เออหนอ!ถ้าเรามีนาวาทิพย์ทำด้วยมุกดา มีความปรารถนาเป็นใบมีความอำเภอใจเป็นหางเสือได้แล่นเรือลอยละล่องไปในแม่น้ำนั้นขึ้นไปถึงต้นน้ำ …”
( กามนิต – เสฐียรโกเศศและนาคะประทีป)
3. บุคคลวัต (Personification) บุคลาธิษฐาน หรือบุคคลสมมุติ ภาพพจน์การสมมุติให้สิ่งไม่มีชีวิต ความคิด นามธรรมหรือสัตว์ ให้มีสติปัญญา อารมณ์    หรือกิริยาอาการเยี่ยงมนุษย์ ตัวอย่าง
“ลมหนาวเริ่มล่องมาจากฟ้าแล้ว                   พรม จูบ แผ่วเจ้าพระยาโรยฝ้าฝัน
คลื่นคลี่เกลียวแก้วม้วนกับนวลจันทร์            กระซิบสั่น ซ่านกระเซ็นเป็นลำนำ”
(ลมหนาว – เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)
ในบทนี้เป็นการนำเสนอของกวีที่ให้ลมหนาวมาทำอาการจูบลำน้ำเจ้าพระยาคลื่นกระซิบและสั่นจนเกิดเป็นเพลงลำนำ
“… คำฝรั่งมีอยู่ว่า “ เงินพูดได้ ” แต่ที่จริงมันพูดเมื่อเจ้าของเป็นคนปากโป้งและถ้าเช่นนั้นมันจะพูดอะไรออกมาแต่ะคำก็ล้วนแต่จะบาดหูคนทั้งนั้น ส่วนความจน
แร้นแค้นนั้นก็พูดได้   แต่มันจะพูดว่ากระไรไม่มีใครอยากฟัง… ”
(จดหมายจางวางหร่ำ – น.ม.ส.)
บุคคลวัตอาจจะใช้เป็นบางส่วนของเนื้อเรื่องหรือของข้อความแต่ในบางครั้งอาจจะใช้เป็นโครงเรื่องก็ได้ อย่างเช่นเรื่อง      “ อัวรานางสิงห์ ” ที่ให้อัวราแสดงเป็นตัวแทนของคนๆ หนึ่งซึ่งมีพฤติกรรมฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของสังคมจนในที่สุดก็ต้องตายด้วยหัวใจสลาย
4. อติพจน์ อธิพจน์ ( Hyperbole) ภาพพจน์ที่กล่าวเกินจริงหรือผิดจากความจริงด้วยเจตนาเน้นข้อความที่กล่าวนั้นให้มีน้ำหนักยิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความรู้สึกเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามก็มีเค้าแห่งความจริงเจือปนอยู่บ้างไม่ใช่เรื่องที่กุขึ้นหลอกลวง ตัวอย่างเช่น
รถเอยรถที่นั่ง                                    บุษบกบัลลังก์ตั้งตระหง่าน
กว้างยาวใหญ่เท่าเขาจักรวาฬ         ยอดเยี่ยมเทียมวิมานเมืองแมน
ดุมวงกงหันเป็นควันคว้าง                เทียมสิงห์วิ่งวางข้างละแสน
สารถีขี่ขับเข้าดงแดน                       พื้นแผ่นดินกระเด็นไปเป็นจุณ
นทีตีฟองนองระลอก                        คลื่นกระฉอกกระฉ่อนชลข้นขุ่น
เขาพระเมรุเอนเอียงอ่อนละมุน        อานนท์หนุนดินดานสะท้านสะเทือน
ทวยหาญโห่ร้องก้องกัมปนาท          สุธาวาศไหวหวั่นลั่นเลื่อน
บดบังสุริยันตะวันเดือน                      คลาดเคลื่อนจตุรงค์ตรงมา
(รามเกียรติ์ – รัชกาลที่ 2)
บทที่กล่าวมานี้ถ้าพิจารณาตามหลักความเป็นจริงแล้วจะหาความจริงไม่ได้เลยเพราะจะไม่มีรถที่ไหนจะใช้สิงห์เทียมได้ถึง 1 แสนตัว หากเทียมได้สนามรบก็คงใหญ่ กว่าสนามหลวงเป็นสิบเท่าแม้แต่น้ำในมหาสมุทรก็คงจะขุ่นไม่ได้หากไม่มีคลื่นยักษ์เกิดขึ้นแบบสึนามิ ดังนั้นบทกลอนที่กล่าวมาจึงอุดมไปด้วยอติพจน์เป็นอย่างยิ่ง
“เรียมร่ำน้ำเนตรถ้วม        ถึงพรหม
พาหมู่สัตว์จ่อมจม           ชีพม้วย”
การกล่าวเกินจริงที่กวีร้องไห้ คร่ำครวญจนน้ำตาท่วมถึงพระพรหม ทำให้สัตว์ทั้งหลายจมน้ำตาย
5. ปฏิทรรศน์ ปฏิพากย์ หรือ ปฏิพจน์ (Paradox)คือการใช้โวหารบอกความตรงข้าม ภาพพจน์ที่ใช้คำกล่าวที่มองอย่างผิวเผินแล้วจะขัดกันเองหรือไม่น่าจะเป็นไปได้ ด้วยเพราะขัดแย้งกันแต่ถ้าพิจารณาให้ดีจะเป็นคำกล่าวที่มีความหมายลึกซึ้งและเป็นไปได้ ตัวอย่าง
รักก่อวิวาทกัน !โอ้ความชังอันน่ารัก ! (ศัตรูที่รัก)
โลกมนุษย์ยังมีสีดำขาว มีดินดาวร้อนเย็นและเหม็นหอม
โอ้ความเบาแสนหนัก !ความป้ออันงึมงัม !
ขนนกหนัก !ควันผ่องพรรณ ! ไฟเย็น , อีกไข้สุขา !
ตื่นอยู่แต่หลับในนี่ไม่เป็นเช่นเห็นนา !
(โรเมโอแอนจูเลียต – รัชกาลที่6)
บทที่กล่าวมานี้เป็นกลอนเปล่าที่โรเมโอกล่าวต่อเบ็นโวเลโอสหายเพื่อบรรยายความรักของตนที่มีต่อจูเลียตบุตรีของตระกูลอันเป็นศัตรู จะเห็นว่าใช้ถ้อยคำที่ขัดแย้งกันเช่น ความเบาแสนหนัก ไข้สุขา ฯลฯ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ว่าความหนักนั้นจะมีสภาพเบา การเป็นไข้จะทำให้เป็นสุขได้ ซึ่งในที่นี้โรเมโอรู้ว่ามิอาจจะรักศัตรูได้แต่ก็ห้ามใจแห่งตนไม่ได้   จึงบรรยายด้วยความ ขัดแย้งของ 12 สิ่งต่างๆ มาเปรียบ
 6. สัญลักษณ์ (Symbol) ภาพพจน์ที่ใช้สิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตมาแทนสิ่งที่ต้องการกล่าวถึงจริงๆ สองสิ่งนั้นจะมีคุณสมบัติร่วมกันบางประการ สิ่งที่นำมานั้นต้องเกิดการตีความ และเข้าใจกันในวงกว้างและเป็นที่ยอมรับกันสัญลักษณ์ในบางครั้งอาจจะเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นเองเพื่อจุดประสงค์ของนักประพันธ์ก็ได้ตัวอย่าง
“อย่าเอื้อมเด็ดดอกฟ้า                  มาถนอม
สูงสุดมือมักตรอม                          อกไข้
เด็ดแต่ดอกพยอม                          ยามยาก  ชมนา
สูงก็สอยด้วยไม้                             อาจเอื้อมเอาถึง”
(โคลงโลกนิติ – สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร)
โคลงบทนี้มีความหมายเป็นสองนัย ความหมายแรกอาจจะเป็นการสอนผู้ชายว่าอย่าหมายเป็นเจ้าของผู้หญิงที่มีศักดิ์สูงกว่าโดยใช้สัญลักษณ์ ดอกฟ้าแทนหญิงอันสูงศักดิ์หรืออีกความหมายหนึ่งเป็นการสอนว่าอย่าทะเยอทะยานเกินกว่าวิสัยของตนที่จะสามารถทำได้
เมฆสีดำแต้มฟ้าเวลานี้               มันจะมีวันจางร้างฟ้าไหม
เราอยากเห็นรุ้งทองของฟ้าไทย ผ่องอำไพกระจ่างทาบกลางฟ้า”
กลอนบทนี้ใช้คำว่า เมฆสีดำเป็นสัญลักษณ์แทนความทุกข์ ความชั่ว อิทธิพล การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกัน และใช้คำว่า รุ้งทองเป็นสัญลักษณ์แทน ความดี
สัญลักษณ์เป็นภาพพจน์ที่ต้องการการตีความหมาย สัญลักษณ์จึงเป็นความยากของผู้ที่ไม่มีความชำนาญในการวิจารณ์   อีกทั้งการเป็นสัญลักษณ์ยังเป็นสิ่งที่กว้างในเชิงความหมายจึงต้องคิดอย่างระมัดระวัง
7.นามนัย ( Metonymy) ภาพพจน์ที่ใช้คำหรือวลีบ่งบอกลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งหนึ่งสิ่งใดมาแสดงความหมายแทนสิ่งของที่มีลักษณะเด่นหรือสิ่งของที่มีสัมพันธภาพใกล้ชิดกับสิ่งที่แทน ในความหมายเป็นสากล นามนัยอาจจะคล้ายกับสัญลักษณ์แต่ต่างกันที่นามนัยจะแสดงความหมายที่ตรงตัวและชัดเจนกว่า
ซึ่งพระองค์จะพาสองหลาน              ออกไปสังหารยักษา
ก็ต้องความตาม ไวกูณฐ์ มา              สุดแต่พระมหามุนี
(รามเกียรติ์ – รัชกาลที่ 1)
ไวกูณฐ์ เป็นที่ประทับขององค์พระนารายณ์ในที่นี้ใช้เป็นนามนัยที่หมายถึงองค์พระนารายณ์อวตาร
หมายว่าจะมอบ เศวตฉัตร           สืบวงศ์จักรพรรดินาถา
(รามเกียรติ์ – รัชกาลที่ 1)
            เศวตฉัตร ใช้เป็นนามนัยหมายถึงราชสมบัติ
ในบางครั้งเราใช้นามนัยจนเคยชินและกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาษาในชีวิตประจำวันไปโดยไม่คาดคิดว่าคำหรือวลีเหล่านั้นเป็นภาพพจน์ เช่น
หนุ่มหน้าหยก                         ชายหนุ่มผิวขาวเกลี้ยงเกลา
ดาวค้างฟ้า                             นักแสดงที่อยู่ในความนิยมยาวนาน
8. อนุนามนัย Synicdoche ) คือการนำส่วนน้อยหรือส่วนย่อยที่เห็นเด่นชัดมากล่าวโดยหมายถึงส่วนทั้งหมด เช่น กรุงเทพฯคือประเทศไทย เพชรบุรีเมืองคนดุ
นามนัยและอนุนามนัย เป็นภาพพจน์ที่ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้คำธรรมดา ซ้ำซาก มาใช้คำสั้นๆ ที่บอกจุดเด่นของสิ่งนั้นได้ โดยผู้ส่งสารไม่ต้องเสียเวลาอธิบายและทำให้ผู้รับสารมองเห็นภาพได้ทันที
 9. สัทพจน์ ( Onomatopoeia) ภาพพจน์ที่ใช้เสียงธรรมชาติต่างๆ มาแสดงประกอบเพื่อให้เกิดมโนภาพภาพพจน์ชนิดนี้มีลักษณะที่เด่นชัดมากและเข้าใจง่ายที่สุดในบรรดาภาพพจน์ทั้งหมดและยังเป็นที่นิยมของกวีในการแต่งคำประพันธ์ตัวอย่างเช่น
ต้อยตะริดติดตี่เจ้าพี่เอ๋ย               จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน
แอ้อีอ่อย สร้อยฟ้าสุมาลัย             แม้นเด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย
(พระอภัยมณี – สุนทรภู่)
ต้อยตะริดติดตี่ , แอ้อีอ่อย เป็นเสียงของปี่
ณ  ยามสายัณห์ตะวันยิ่งย้อย                แนะเร่งเท้าหน่อยทยอยเหยียบหนา
ตะแล้กแต้กแต้ก จะแหลกแล้วจ้า       กระด้งรีบมาเถอะรับข้าวไป
(ณ ยามสายัณห์ – สุภร  ผลชีวิน)
ตะแล้กแต้กแต้กเป็นเสียงของครกกระเดื่อง
นอกจากนี้ยังมีโวหารภาพพจน์อื่น ๆ อีก คือ

อวพจน์ คือการกล่าวน้อยเกินความเป็นจริง เช่น รอสักอึดใจเดียวนะ เรื่องเล็กเท่าขี้ตาแมว
อุปมานิทัศน์ คือการใช้เรื่องราวสอนใจ
นาฏการ เป็น การใช้ภาพการสู้รบต่างๆ หรือ ภาพของการเคลื่อนไหวที่สวยงาม







  

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

สัมผัสในการแต่งกลอน

การเขียนประกาศ

การเล่นคำ